“ยวี่หลิน” (玉林市/Yulin City) เมืองทางตะวันออกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ใช้ประโยชน์จากการขนส่งสินค้าทาง “แม่น้ำ” เพื่อการส่งออกสินค้าไปประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ใช่แล้ว!!! คุณอ่านไม่ผิด ส่งออกสินค้าทาง “แม่น้ำ” แม้ว่าเขตฯ กว่างซีจ้วงกับประเทศไทยจะไม่มีแม่น้ำไหลเชื่อมถึงกัน
เมื่อพูดถึงการขนส่งสินค้าทางแม่น้ำในระบบการค้าต่างประเทศระหว่างไทยกับจีน เชื่อว่า… หลายคนคงนึกถึง “แม่น้ำโขง” ที่ท่าเรือเชียงแสน จ.เชียงราย – ท่าเรือกวนเหล่ย มณฑลยูนนาน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านสภาพร่องน้ำและระดับน้ำในแม่น้ำโขงตามฤดูกาล ส่งผลให้การเดินเรือสินค้าอาจเกิดความไม่สะดวก และขนสินค้าได้ในปริมาณน้อย
อันที่จริง เมื่อช่วงปลายปี 2567 บีไอซี ได้เคยนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการบุกเบิกเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทาง “แม่น้ำ” ระหว่าง “ท่าเรือแม่น้ำในเมืองอู๋โจว – ท่าเรือกรุงเทพ” มาแล้ว โดยสินค้าในเที่ยวเดินเรือปฐมฤกษ์ในเส้นทางดังกล่าวเป็นฉนวนใยหิน (rock wool) ของเมืองระดับอำเภอเป่ยหลิว (ในการกำกับดูแลของเมืองยวี่หลิน) ที่ลำเลียงไปขึ้นเรือสินค้าที่ “ท่าเรือแม่น้ำชื่อสุ่ย” ในเมืองอู๋โจว โดยมีท่าเรือปลายทางอยู่ที่ “ท่าเรือกรุงเทพ”
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 เมืองยวี่หลินได้บุกเบิกเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทาง “แม่น้ำ” ไปประเทศไทยอีก 1 เส้นทาง คือ “ท่าเรือแม่น้ำในเมืองอู๋โจว – ท่าเรือแหลมฉบัง” โดยเที่ยวเดินเรือปฐมฤกษ์ในเส้นทางดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์โลหะ (อาทิ โต๊ะเก้าอี้ ชั้นวาง และเครื่องใช้ในครัว) ของอำเภอยรง (容县/ Rong County) เมืองยวี่หลิน ไปเปลี่ยนลำที่ฮ่องกง ก่อนขนส่งไปยังปลายทางที่ “ท่าเรือแหลมฉบัง”
รู้จัก “ท่าเรือชื่อสุ่ยอู๋โจว” (Wuzhou Chishui Port/梧州赤水港)
“ท่าเรือชื่อสุ่ย” ตั้งอยู่ในอำเภอเถิง (Teng County/藤县) ของเมืองอู๋โจว เป็น 1 ใน ท่าเรือแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนแม่น้ำซีเจียง (ลำน้ำสาขาของแม่น้ำเพิร์ลที่ไหลออกสู่ทะเลที่มณฑลกวางตุ้ง) และจัดเป็น “ด่านประเภท 1” หรือด่านที่สามารถทำการค้าต่างประเทศได้ของประเทศจีน และเป็นท่าเรือขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวบนลำน้ำซีเจียงที่มีระบบงานขนส่งแบบครบวงจร ทั้งทางแม่น้ำ ทางถนน ทางรถไฟ (เส้นทางรถไฟลำเลียงสินค้าเข้าไปถึงในท่าเรือชื่อสุ่ย) และทางอากาศ (ใกล้สนามบินซีเจียงของเมืองอู๋โจว)
“ท่าเรือแม่น้ำชื่อสุ่ย” มีท่าเทียบเรือขนาด 2,000 ตัน จำนวน 5 ท่า มีศักยภาพรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้ปีละ 1.98 ล้านตัน และท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ขนาด 3,000 ตัน จำนวน 2 ท่า สามารถรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้ปีละ 1.85 ล้านตัน แบ่งเป็นตู้สินค้า 85,000 TEUs สินค้าเทกอง 1 ล้านตัน และกำลังอยู่ระหว่างจัดทำแผนงานก่อสร้างท่าเทียบเรือในระยะที่ 3 อีก 8 ท่า
สถิติการขนส่งสินค้าของเขตปฏิบัติการท่าเรือแม่น้ำชื่อสุ่ย เมืองอู๋โจว มีดังนี้
ปี 2566 ท่าเรือชื่อสุ่ยมีปริมาณขนถ่ายสินค้า 12.06 ล้านตัน เป็นการขนถ่ายตู้สินค้า 100,000 TEUs เพิ่มขึ้นร้อยละ 200 (YoY) สร้างสถิติเป็นเขตปฏิบัติการท่าเรือแม่น้ำเดี่ยว (Single operation zone) ที่มีปริมาณขนถ่ายสินค้ามากที่สุดในเขตฯ กว่างซีจ้วง
ปี 2567 ปริมาณขนถ่ายสินค้า 13.86 ล้านตัน ทุบสถิติเขตปฏิบัติการท่าเรือแม่น้ำเขตปฏิบัติการเดี่ยวที่มีปริมาณขนถ่ายสินค้ามากที่สุดในเขตฯ กว่างซีจ้วงอีกครั้ง ขยายตัวร้อยละ 14.79 (YoY) เป็นการขนถ่ายตู้สินค้า 110,200 TEUs เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.19 (YoY) เป็นตู้สินค้าในระบบการค้าระหว่างประเทศ 5,908 TEUs (87 เท่าของปี 2566) เป็นสินค้าเทกอง (Bulk) 11.57 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.58 (YoY)
ปี 2568 ข้อมูล ณ 30 มีนาคม 2568 ปริมาณขนถ่ายสินค้า 2.97 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 (YoY) ในจำนวนนี้เป็นปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 21,000 TEUs เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0
ปัจจุบัน บริษัท Guangxi Beibu Gulf International Port Group (广西北部湾国际港务集团) ในเมืองอู๋โจว มีบริการเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศหลายเส้นทาง อาทิ ท่าเรือแม่น้ำชื่อสุ่ย – ท่าเรือฮ่องกง ท่าเรือแม่น้ำชื่อสุ่ย – ท่าเรือโฮจิมินห์ของเวียดนาม ท่าเรือแม่น้ำชื่อสุ่ย – ท่าเรือกรุงเทพ และล่าสุด ท่าเรือแม่น้ำชื่อสุ่ย – ท่าเรือแหลมฉบัง
คุณอู อู่ปิน (巫武斌/Wu Wubin) เจ้าของบริษัท Rong County Zhensheng Metal Products Co., Ltd. (容县振晟金属制品有限公司) ให้ข้อมูลว่า การสร้างสรรค์ทางออกด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของท่าเรือแม่น้ำชื่อสุ่ย ช่วยให้บริษัทฯ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้อย่างชัดเจน ตู้ละเกือบ 500 หยวน และประมาณการว่าบริษัทฯ จะสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ราวปีละ 150,000 หยวน
บีไอซี เห็นว่า ปัจจุบัน “การขนส่งทางแม่น้ำ” เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของภาคธุรกิจในพื้นที่จีนตอนในที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนับเป็นข่าวดีของผู้ประกอบการไทยในการทำการค้ากับจีนตอนใน โดยเฉพาะผู้ค้าในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลดิบ แป้งมันสำปะหลัง ธัญพืช (ข้าว ถั่วเหลือง) สินแร่ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดจีน โดยผู้ค้าสามารถเลือกจัดการขนส่งด้วยตู้สินค้าแทนการใช้เรือสินค้าเทกองได้ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและช่วยลดอัตราการสูญเสียลงได้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวในการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังพื้นที่ตอนในของเขตฯ กว่างซีจ้วงได้เช่นกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่งดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนของสินค้าระหว่างพื้นที่ และส่งเสริมการค้าแบบสองทาง ซึ่งมีรูปแบบการค้าที่มีความยั่งยืน (ข้อมูลปี 2567 พบว่า เมืองยวี่หลินมีการนำเข้าสินค้าเชิงทรัพยากรเป็นหลัก อาทิ แร่นิเกิล ลิเทียม และโคบอลต์ นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องกลไฟฟ้า และวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนและเครื่องเทศ)
ที่สำคัญ ยังสามารถกระจายสินค้าผ่านระบบงานขนส่งทางแม่น้ำซีเจียง หรือใช้ฟังก์ชันด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรในเขตฯ กว่างซีจ้วงในการเป็นฐานการกระจายสินค้าไปยังมณฑลตอนในของจีนได้ผ่าน “โมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ” (Multimodal transportation) ซึ่งมีโครงข่ายครอบคลุมทั้งทางเรือ (แม่น้ำ ทะเล) ทางบก (รถไฟ ถนน) และทางอากาศ ซึ่งช่วยให้การกระจายสินค้ามีความสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนของผู้ผลิตในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งภาคอุตสาหกรรมไทยได้
ข่าวนี้รวบรวมโดย :SHUNNING HUANG